ป้องกันอาการซึมเศร้ากำเริบ ด้วยการบำบัดทางจิตวิทยา

จากการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) ที่มีอาการของโรคกำเริบอีกครั้ง จะสามารถมีอาการย้อนกลับขึ้นมาได้อีกในอนาคต ถ้าไม่ได้รับการป้องกันรักษา

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้ากำเริบอีกครั้งจะได้รับการแนะนำให้ทานยาต้านเศร้าต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ป่วยเกือบครึ่งไม่ได้ทานยาต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำ[1] อาจเป็นเพราะผลข้างเคียงของยาทำให้ไม่อยากใช้ยา ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการกำเริบได้ 

ในปัจจุบัน ทีมนักวิจัยทางจิตวิทยาได้ศึกษาพัฒนารูปแบบการบำบัดทางจิตวิทยาเข้ามาช่วยผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้ากำเริบ เพื่อช่วยเป็นเกราะป้องกันไม่ให้อาการซึมเศร้ากำเริบอีกครั้ง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยนอกเหนือไปจากการใช้ยา รูปแบบการบำบัดทางจิตวิทยานี้เป็นการบำบัดแบบจัดการระบบความคิด (Cognitive Therapy หรือ CT) [2] และการบำบัดแบบจัดการระบบความคิดโดยเน้นการฝึกสติให้รู้ตัวเอง (Mindfulness-Based Cognitive Therapy หรือ MBCT) [3, 4] โดยฝึกบำบัดเป็นกลุ่ม

หลักของ CT เป็นการเน้นจัดการกับความคิดลบที่มีและเปลี่ยนเนื้อหาความคิดลบนั้นให้เป็นบวก ส่วนหลักของ MBCT นั้นมีการฝึกสติเข้ามาร่วมด้วยโดยที่ไม่เน้นการเปลี่ยนเนื้อหาความคิดลบ แต่เน้นหลักดังนี้

  • เรียนรู้ที่จะจับความรู้สึกทางร่างกาย ความคิด และอารมณ์ ที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า เพราะ อาการซึมเศร้ากำเริบนั้น เป็นผลมาจากรูปแบบความคิดทางลบอัตโนมัติ เช่น คิดวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง คิดลดค่าตัวเอง คิดสิ้นหวัง
  • เมื่อจับความคิดทางลบอัตโนมัติได้ ก็พยายามออกห่างจากความคิดลบนั้น โดยทำความเข้าใจว่าความคิดทางลบนั้นเป็นเพียงแค่ชั่วขณะของอารมณ์ และความคิดลบนั้นไม่จำเป็นต้องสะท้อนความจริงเสมอไป … ความคิดไม่ใช่ความจริง” หรือ ตัวฉันไม่ใช่ความคิดของฉัน” … พยายามมองออกไปรอบๆถึงความจริงแทนที่จะโทษสิ่งไม่ดีเข้าหาตัวเอง

จากการวิจัยพบว่า การบำบัดทั้งแบบ CT และ MBCT ให้ผลป้องกันอาการซึมเศร้ากำเริบได้ไม่แพ้กับการใช้ยาเลย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยต้องรู้จักฝึกและช่วยเหลือตัวเองด้วยแทนที่จะหวังพึ่งยาอย่างเดียว


[1] Doesschate, M.C., ten, Bockting, C.L. & Schene, A.H. (2009) Adherence to continuation and maintenance antidepressant use in recurrent depression. Journal of Affective Disorders, 115. 167–170.

[2] Bockting, C.L., Schene A.H., Spinhoven, P., et al. (2005). Preventing relapse/recurrence in recurrent depression with cognitive therapy: a randomized controlled trial. Journal of Consulting and Clinical Psychology, 73 (4), 647–657.

[3] Teasdale, J.D., Segal, Z.V., Williams, J.M.G., et al. (2000). Prevention of relapse/recurrence in major depression by mindfulness-based cognitive therapy. Journal of Consultingand Clinical Psychology, 68,615–623.

[4] Kuyken, K., Byford, S., Taylor, R.S., et al. (2008). Mindfulness-Based Cognitive Therapy to Prevent Relapse in Recurrent Depression. Journal of Consulting and Clinical Psychology, 76 (6), 966–978.