จิตวิทยาสังคมและองค์กรได้อธิบายเรื่องความแตกต่าง และวิธีการจัดการกับความแตกต่างไว้ตามนี้ค่ะ
คนและกลุ่ม
มนุษย์เราเมื่อมาอยู่ร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ย่อมหนีไม่พ้นการเปรียบเทียบเพื่อมองหาความเหมือนและความแตกต่างระหว่างตนกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นทางรูปธรรมหรือนามธรรม เช่น เพศ การศึกษา ความชอบ หรือทัศนคติ เราต่างก็มีการจัดตนเองเข้าไปในกลุ่มที่เหมือนกับตัวทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ไม่ว่ากลุ่มนั้นจะเล็กหรือจะใหญ่ ย่อมหนีไม่พ้นการแบ่งแยก
แม้ในกลุ่มใหญ่กลุ่มเดียวกัน ก็ยังมีการแบ่งแยกเป็นกลุ่มย่อย ๆ อีก และแม้ในคนคนเดียวกัน ก็ยังเป็นสมาชิกกลุ่มของหลาย ๆ กลุ่มในเวลาเดียวกัน ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมในขณะนั้น ยกตัวอย่าง โรงเรียนแบ่งออกเป็นชั้นปีและชั้นเรียนตามห้อง ขณะเดียวกันสถานะของคนในโรงเรียนก็แบ่งคนออกเป็นครูและนักเรียน นักเรียนคนหนึ่งเป็นทั้ง นักเรียนในโรงเรียนนี้ นักเรียนในชั้นปีนี้ นักเรียนในห้องเรียนนี้ จนกระทั่งนักเรียนกลุ่มเด็กเรียนหรือกลุ่มนักกีฬาในห้องเรียนนี้
แน่นอนว่าความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่เหนียวแน่นที่สุดนั้น เกิดในกลุ่มที่เล็กที่สุดที่มีจำนวนคนน้อยที่สุด นักเรียนจึงรู้สึกแน่นแฟ้นกับเพื่อนร่วมแก๊งค์นักเรียนของตัวเองมากกว่ากับเด็กนักเรียนอื่นร่วมโรงเรียนเดียวกัน
เมื่อคนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม คนไม่ได้เป็นคนเดี่ยว ๆ อีกต่อไปแล้ว แต่ยังสวมหมวกของกลุ่มตนอยู่ตลอดเวลา ภาพพจน์ของกลุ่มจึงส่งผลต่อความคิดที่ตนมีต่อตนเอง (self concept) ของแต่ละคนในกลุ่ม เช่น นักเรียนห้องทับหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นห้องเด็กเก่ง ก็จะภูมิใจที่ตัวเองได้เป็นเด็กห้องหนึ่ง เพราะนั่นหมายความว่าตนเป็นคนเก่ง เด็กในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงก็จะภูมิใจและมั่นใจเวลาเดินนอกโรงเรียนด้วยชุดนักเรียนที่สวมใส่อยู่ เพราะตราประจำโรงเรียนและเครื่องแบบนักเรียนให้ค่ากับตัวเองว่าตัวเป็นคนเก่งที่ได้เรียนในโรงเรียนมีชื่อ
ความแตกต่างในกลุ่ม
คนหลาย ๆ คนที่มารวมกันในกลุ่มเดียว ย่อมรับรู้ถึงความแตกต่างหลากหลายระหว่างตนกับคนอื่น (diversity) เช่น ต่างกันทางพื้นฐานครอบครัว ต่างกันทางการศึกษา หรือต่างกันทางทัศนคติ ความแตกต่างภายในกลุ่มนั้นให้ทั้งประโยชน์และโทษ ให้ประโยชน์คือเกิดการแตกหน่อความคิดใหม่ ๆ หลากหลายไม่ซ้ำเดิม ทำให้กลุ่มใหญ่พัฒนา
องค์กรที่มีความแตกต่างหลากหลายภายในมาก จะคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพในการทำงาน มากกว่าองค์กรที่มีความแตกต่างภายในต่ำ เพราะเหตุนี้ ในปัจจุบันบริษัทหรือองค์กรจึงให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างมาก บางองค์กรที่มีความแตกต่างภายในต่ำ จะกระตุ้นให้เกิดความแตกต่างในกลุ่มมากขึ้น เช่น หน่วยงานที่มีผู้ชายเยอะจะพยายามรับผู้หญิงให้เข้ามาทำงานมากขึ้น เพื่อทำให้เกิดความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น เป็นต้น
ส่วนโทษของความแตกต่างภายในกลุ่มนั้น จะเกิดเมื่อมีการแตกหน่อของกลุ่มย่อยที่แตกต่างหลากหลายกันมากขึ้น กลุ่มย่อยจะนำปัญหามาสู่กลุ่มใหญ่โดยรวมถ้ากลุ่มย่อยนั้นต่างเป็นกลุ่มปิดที่ไม่รับฟังและร่วมมือกับกลุ่มย่อยอื่น มีการแบ่งแยกกลุ่มฉันและกลุ่มเธอ มีอคติกับคนกลุ่มย่อยอื่นและเข้าข้างกลุ่มย่อยของตัวเอง ทำให้มองข้ามข้อเสียของกลุ่มย่อยตัวเอง และไม่อยากร่วมมือทำงานกับกลุ่มย่อยอื่น เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มย่อยทำให้เกิดผลเสียต่อผลประโยชน์ของกลุ่มใหญ่
ตรงนี้จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของกลุ่มใหญ่ที่จะต้องหลอม “กลุ่มฉันกลุ่มเธอ” ให้กลายเป็น “กลุ่มเรา” ให้มากที่สุด เพื่อลดความแตกต่างที่อาจส่งโทษต่อกลุ่มรวม
วิธีจัดการความแตกต่าง:
ไม่มีกลุ่มฉันกลุ่มเธอ มีแต่กลุ่มเรา
ผู้นำกลุ่มนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการจัดการความแตกต่างภายในกลุ่ม กลุ่มที่สมาชิกมีความแตกต่างทางความคิดกันน้อยนั้น ต้องการผู้นำที่ตรงไปตรงมา มีการจัดการเด็ดขาด เพื่อให้คนในกลุ่มกล้าแสดงความคิดเห็นออกมามากขึ้น ส่วนกลุ่มที่สมาชิกมีความแตกต่างทางความคิดกันมากนั้น ต้องการผู้นำที่ยืดหยุ่นอะลุ่มอล่วย เน้นการทำงานเป็นทีมและตัดสินใจร่วมกัน จะช่วยให้สมาชิกกลุ่มเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน นำมาซึ่งการเกิดความคิดใหม่ ๆ
โดยทั่วไปการหลอมกลุ่มเธอกลุ่มฉันให้เป็นกลุ่มเรานั้น หลักการโดยรวม คือ การสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับคนในกลุ่มและกระตุ้นให้คนในกลุ่มร่วมมือพึ่งพาอาศัยกัน อาจแบ่งวิธีการได้สามหลักใหญ่ ดังนี้
1. เน้นว่าภาพพจน์ของกลุ่มก็คือภาพพจน์ของคนในกลุ่มเอง
สร้างสำนึกรักในกลุ่มและสำนึกในการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม หล่อหลอมให้เป้าหมายและวิสัยทัศน์ของกลุ่มนั้นกลายเป็นเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของบุคคลด้วย เพื่อทำให้คนมีแรงจูงใจที่จะทำดีเพื่อผลักดันกลุ่มให้ก้าวไปข้างหน้า เช่น เป้าหมายของโรงเรียนคือการมีชื่อเสียงประสบความสำเร็จในการแข่งขันทางวิชาการ โรงเรียนจึงสร้างค่านิยมให้นักเรียนอยากเป็นคนเก่ง โดยการสร้างคติพจน์ของโรงเรียนที่เน้นความเก่งความรอบรู้ มีการให้รางวัลเด็กเก่ง หรือจัดกิจกรรมที่ให้ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงกลับเข้ามาบอกเรื่องราวตัวเองกับรุ่นน้องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้นักเรียนแต่ละคนเกิดแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จ
และแน่นอนเมื่อนักเรียนประสบความสำเร็จ โรงเรียนก็จะประสบความสำเร็จด้วย การสร้างสำนึกรักในโรงเรียนนั้นอาจทำโดย การจัดกิจกรรมวันก่อตั้งโรงเรียน, กิจกรรมบอกรักโรงเรียน, ชื่นชมและให้รางวัลนักเรียนที่ช่วยงานโรงเรียน เป็นต้น
2. การสร้างสัญลักษณ์ของกลุ่ม เพื่อความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เช่น ตราประจำโรงเรียน, เพลงประจำโรงเรียน หรือสีประจำโรงเรียน เมื่อคนในกลุ่มได้เห็นได้ใช้สัญลักษณ์ของกลุ่มบ่อย ๆ ก็จะซึมซับความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
3. การสร้างกิจกรรมที่ทำให้คนในกลุ่มได้ทำงานร่วมมือกัน
พึ่งพาอาศัยกัน เสริมสร้างความสามัคคี เช่น โรงเรียนจัดกิจกรรมทำความสะอาดโรงเรียนให้นักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมพร้อมกัน หรือ จัดงานกีฬาสีเพื่อให้นักเรียนต่างชั้นเรียนต่างห้องเรียนได้ทำงานร่วมกัน
งานกีฬาสีและการทำงาน:
แข่งขันพร้อมร่วมมือ, แยกความคิดและพฤติกรรมออกจากตัวบุคคล
งานกีฬาสีโรงเรียนนั้นเป็นตัวอย่างในเรื่อง การสร้างความสามัคคีในกลุ่มสีเดียวกัน, การปลูกฝังความมีน้ำใจเป็นนักกีฬารู้จักแพ้รู้จักชนะ และการเสริมสร้างทีมโรงเรียนให้แข็งแกร่ง โดยไม่เกี่ยวว่าจะเป็นสีไหน ๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนพาเหรด, กองเชียร์ หรือนักกีฬา
เมื่อต่างฝ่ายต่างฝึกซ้อมมาอย่างเต็มที่ก็เป็นผลดีต่อโรงเรียนทั้งสิ้น เพราะนักกีฬาของสีที่ชนะก็กลายเป็นนักกีฬาตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งกับโรงเรียนอื่น แล้วนักเรียนทั้งหมดต่างก็มาร่วมมือร่วมใจกันเชียร์ให้กำลังใจนักกีฬาโรงเรียนตน โดยที่ไม่ได้สนใจอีกต่อไปว่าตัวเองและคนอื่นอยู่สีอะไร นั่นเป็นเพราะตอนนี้นักเรียนทุกคนต่างมีจุดหมายร่วมกัน คือ อยากให้นักกีฬาจากทีมโรงเรียนของตนเป็นฝ่ายชนะ อยากให้โรงเรียนมีชื่อเสียง ทุกคนต่างทำเพื่อโรงเรียนของตัวเอง
งานกีฬาสีนั้นก็เหมือนกับการทำงานทั่วไป ที่บางครั้งย่อมมีความคิดเห็นขัดแย้งกันระหว่างคนในที่ทำงาน ถ้าความขัดแย้งนั้นดำเนินไปเพื่อแก่นเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อให้บริษัทหรือองค์กรเจริญก้าวหน้า ความขัดแย้งนั่นย่อมมีผลดีแฝงอยู่เสมอ
ตรงนี้ขอยกตัวอย่างคำกล่าวของศาสตราจารย์เคียท ไทส์มัน (Geert Teisman) นักรัฐประศาสนศาสตร์ที่มีชื่อของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งกล่าวไว้ว่า
การแข่งขันต้องควบคู่กับการร่วมมือกัน (cooptation = cooperation + competition)
นั่นคือ ในองค์กรต้องมีการแข่งขันกันที่ผลงานเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ และในขณะเดียวกันสมาชิกทุกคนต้องร่วมมือส่งเสริมกัน ฉุดคนที่ล้าหลังให้ก้าวไปข้างหน้า เพราะการส่งเสริมให้ทุก ๆ คนก้าวหน้าไปด้วยกันพร้อม ๆ กันจะทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้าตามไปด้วย
คนดัตช์นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นคนตรง คนส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไรมักพูดออกมาอย่างนั้น ในการทำงานบางครั้งเถียงกันแทบเป็นแทบตาย แต่เมื่อเถียงกันเสร็จแล้วก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้ปกติ แยกเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงานไม่ปะปนกัน การทำงานอย่างนี้มีข้อดีทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องเกรงใจกัน นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาข้อบกพร่องของงาน
คนดัตช์บางคนเรียนรู้ที่จะทำงานโดยยึดหลัก “Zacht op de relatie, hard op de inhoud” (ซ้าคทฺ อพ เดอะ รีลาซี่, ฮาร์ด อพ เดอะ อินเฮาท์) ร่วมด้วย คือ อ่อนโยนในความสัมพันธ์แต่ให้แข็งแกร่งหนักแน่นในความคิดเห็น ทำให้เวลามีความคิดเห็นต่างกันไม่ต้องพูดว่าร้ายกันให้อีกฝ่ายต้องเสียความรู้สึก แต่ให้เถียงกันที่เหตุผล โดยไม่เลือกสีเลือกข้าง ทั้งนี้เพราะคิดว่า “ฉันอาจไม่ชอบความคิดคุณ แต่ฉันยังชอบคุณอยู่นะ”
หลักการ “แยกความคิดและการกระทำของบุคคลออกจากตัวบุคคล” นั้น ให้ผลดีมากในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และหลักการนี้ยังเป็นหลักการหนึ่งในการทำจิตบำบัด ช่วยลดการคิดเหมารวมโทษตัวเองว่าไม่ดี ซึ่งเกิดบ่อยเวลาซึมเศร้า เช่น ถ้าเกิดสอบตกแล้วคิดว่าตัวเองล้มเหลว ให้มองว่าเป็นการกระทำของตัวเองที่อาจเตรียมตัวสอบไม่ดีพอทำให้สอบตก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าตัวเองเป็นคนล้มเหลว ให้โทษที่การกระทำส่วนหนึ่งที่ไม่ดีของตัวเองแต่ไม่โทษตัวเอง การคิดว่าตัวเองล้มเหลวนั้นไม่ได้หมายความว่าตัวเองเป็นคนล้มเหลว เพราะการกระทำอื่น ๆ ที่เหลือของตัวเองก็อาจไม่ได้ล้มเหลวไปหมด เช่นเดียวกับที่ว่า ในคนคนหนึ่งต่างมีดีไม่ดีปะปนกันไป แม้เขาทำไม่ดีอย่างเดียวหรือไม่ดีไม่กี่อย่างนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนไม่ดีไปเสียทั้งหมด
สรุป: แตกต่างไม่แตกแยก
ความแตกต่างไม่จำเป็นต้องนำมาซึ่งความแตกแยกเสมอไป ถ้าคนในกลุ่มต่างเข้าใจความแตกต่างนั้น และสามารถร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมค่ะ