ความสุขในการทำงาน … ข้อคิดดี ๆ จากการเป็นธรรมบริกร

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ได้มีโอกาสไปเป็นอาสาสมัครช่วยงานครัว ที่ศูนย์วิปัสสนาโกเอ็นก้า ประเทศเบลเยี่ยม เป็นเวลาสิบวันเต็ม ได้รับประสบการณ์และข้อคิดดี ๆ มากมายในการทำงานระหว่างนั้น ซึ่งสามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลาค่ะ

ข้อคิดที่ได้รับจากการเป็นธรรมบริกรในครั้งนี้มี 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ

  • ให้ใส่ความรักความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ เข้าไปในงานทุกอย่างที่ทำ
  • อย่าลืมดูแลตัวเอง เมื่อถึงเวลาพักควรพัก
  • ให้อยู่กับปัจจุบัน ปล่อยวาง ไม่ยึดติดกับความผิดพลาดในอดีต



1.
ให้ใส่ความรัก ความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจเข้าไปในงานทุกอย่างที่ทำ

นี่เป็นใจหลักที่ท่านโกเอ็นก้าเน้นอยู่เสมอ ในการทำงานทุก ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการล้างผัก หั่นผัก ปรุงอาหาร ล้างจาน หรืองานบริการอื่น ๆ ก็ตาม

ทุก ๆ ขณะของการทำงาน สามารถใส่ความรักความหวังดีลงไปในงานที่ทำได้อยู่ตลอดเวลา เสมือนเป็นการฝึกแผ่เมตตาอยู่เสมอ การใส่ความรักความปราถนาดีลงไปในการทำงาน ทำให้ตัวคนทำงานนั้นมีความสุขได้อย่างง่าย ๆ เพราะระลึกได้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น และรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำให้คนอื่นมีความสุข แม้ว่างานที่ทำนั้นจะเป็นงานที่ไม่ชอบเสียเลยก็ตาม

จากที่มองตัวเองและคนทำงานรอบข้างพบว่า ทุกคนแม้จะเหนื่อยกายมากเท่าไรแต่กลับไม่ค่อยเหนื่อยใจนัก ต่างมีพลังในการทำงานเต็มที่ตลอดเวลา นอกจากนี้เมื่อคนทำงานมีความสุข บรรยากาศในการทำงานก็อบอวลไปด้วยความสุขตามมา พลอยทำให้รสชาติอาหารดีไปด้วย และผู้รับประทานอาหารเองต่างก็สามารถรับรู้ได้ ถึงความรักความใส่ใจของคนทำอาหารผ่านทางอาหารที่ทานเข้าไป

ในวันสุดท้ายของหลักสูตรวิปัสสนา ผู้ร่วมวิปัสสนาหลายคนต่างเข้ามาขอบคุณทีมครัวและชมว่าอาหารอร่อยทุกมื้อ – เป็นเรื่องแปลกแต่จริง – แม้ตัวเองก็สังเกตว่า เวลาทำอาหารด้วยความรัก รสชาติของอาหารมักออกมาดีอยู่เสมอ

ในชีวิตประจำวันทั้งในการเรียน และการทำงาน เราคงเลือกไม่ได้เสมอไปว่า เราต้องทำเฉพาะสิ่งที่ตัวเองชอบเท่านั้น บางครั้งเวลาที่ต้องทนทำงานที่ตัวเองไม่ชอบก็ทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำงานนั้นได้ ทั้งนี้เพราะขาดแรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) คือ ตัวงานที่ทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตนสนใจ และไม่ได้รับความพอใจจากการทำงานนั้น เมื่อแรงจูงใจในการทำงานลดน้อยลง ก็ยิ่งต้องเพิ่มพลังงานหลายเท่าให้กับการทำงานชิ้นนั้น

แต่ถ้าลองคิด ลองเสริมสร้างพลังใจใหม่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องชอบงานนั้นเลย แต่ให้ลองมอง หาคุณค่าของงานที่ทำ และให้ลองใส่ความรักลงไปในงานนั้นดู อาจจะช่วยลดความเหนื่อยใจในการทำงานนั้นไปได้ และทำให้มีความสุขในการทำงานมากขึ้น


2. อย่าลืมดูแลตัวเอง เมื่อถึงเวลาพักควรพัก

ท่านโกเอ็นก้ากล่าวว่า การที่จะดูแลคนอื่นได้ดีนั้น ควรที่จะดูแลตัวเองให้ดีก่อน ไม่ควรที่จะละเลยการดูแลตัวเอง ระหว่างการทำงานเมื่อรู้ว่าตัวเองเหนื่อยหรือเครียดเกินไปให้หยุดพักเสียก่อน จนเมื่อรู้สึกดีขึ้นค่อยกลับมาทำงานต่อ และเมื่อถึงเวลาพัก ควรที่จะพัก ให้ร่างกายได้พักผ่อนแล้วค่อยทำงานต่อ

บางครั้งแม้จะมีพลังงานเต็มที่อยู่เสมอในการทำงาน มีพลังใจเต็มเปี่ยม แต่ร่างกายก็อาจจะเหนื่อยล้าโดยที่ไม่ทันรู้ตัวเอง การตั้งสติรับฟังสัญญาณความเครียดและความเหนื่อยล้าของร่างกายหรือจิตใจนั้น เป็นส่วนสำคัญในการประคองตัว ให้สามารถทำงานต่อไปได้อย่างมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี

บางคนทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ต้องแบกภาระความรับผิดชอบไว้กับตัวมากมาย ไม่ทันรู้ตัวว่าตัวเองเครียดเกินไป เมื่อสะสมความเครียดมาก ๆ นาน ๆ เข้า อาจเกิดอาการ burnout หรือรู้สึกล้าหมดแรงโดยไม่มีสาเหตุได้ ดังนั้นสัดส่วนการทำงานและคุณภาพของการพักผ่อนต้องสมดุลกันอยู่เสมอ



3.
ให้อยู่กับปัจจุบัน ปล่อยวางไม่ยึดติดกับความผิดพลาดในอดีต 

การทำงานย่อมมีการผิดพลาดเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ การยิ้มให้กับความผิดพลาดและมองให้เป็นเรื่องขำ ๆ ช่วยลดบรรยากาศตึงเครียดได้ดีทีเดียว

เมื่อทำผิดพลาดก็ให้ปล่อยวาง ไม่เก็บมานั่งคิดแล้วคิดอีก หรือว่าตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะการเก็บความผิดพลาดมาคิดซ้ำ ๆ นั้นไม่สามารถที่จะแก้ไขสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วนั้นได้ มีเพียงแต่ทำให้จิตใจเป็นทุกข์จากอดีตโดยไม่จำเป็น แต่ให้จำบทเรียนจากความผิดพลาดนั้นไว้ แล้วทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

การอยู่กับปัจจุบัน ใส่ใจกับปัจจุบันนั้นสำคัญที่สุด เพราะเมื่ออยู่กับปัจจุบันก็จะมีสติกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า เมื่อมีสติอยู่กับตัวเสมอเปอร์เซนต์ที่จะทำงานผิดพลาดก็จะน้อยลง



ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์วิปัสสนาได้ตรงนี้ค่ะ
ศูนย์วิปัสสนาโกเอ็นก้า

ศูนย์วิปัสสนาโกเอ็นก้าในประเทศไทย