เคยเป็นกันบ้างไหมคะ ที่รู้สึกไม่อยากทำงานอะไรสักชิ้น แล้วก็ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ บอกกับตัวเองว่า “ไว้เดี๋ยวค่อยทำทีหลัง” แล้วอ้างสารพัดเหตุผลที่จะสนับสนุนความคิดตัวเองว่ายังไม่จำเป็นต้องทำงานตอนนี้ เช่น “ตอนนี้ยังไม่มีอารมณ์”, “ตอนนี้ยังไม่มีแรงจูงใจเท่าไหร่”, “บรรยากาศยังไม่อำนวย อุปกรณ์ยังไม่พร้อม”, “มีเวลาอีกตั้งเยอะ ไม่ต้องรีบก็ได้” ฯลฯ
ถ้ามองเผิน ๆ แล้ว อาการผัดวันประกันพรุ่ง อาจดูคล้าย ๆ กับอาการขี้เกียจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีสาเหตุที่ลึกลงไปกว่านั้นมาก
อาการผัดวันประกันพรุ่งจะไม่ใช่อาการขี้เกียจ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เกิดความ “ รู้สึกผิด” และอาจ มีการ “ต่อว่าตัวเอง” ร่วมด้วยในขณะที่กำลังผัดวันประกันพรุ่งอยู่
ปกติแล้ว คนเราหลบเลี่ยงที่จะทำอะไรสักอย่าง เพราะ รู้สึกกลัว รู้สึกวิตกกังวล รู้สึกไม่ดี กับสิ่งนั้น ความรู้สึกทางลบเหล่านี้เกิดขึ้นจากความคิดด้านลบของเราเอง เช่น บางคนเลี่ยงที่จะทำงานบางชิ้น เพราะคิดว่ามันยาก ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะทำได้ คาดหวังว่าตัวเองจะทำได้ไม่ดี ทำให้เกิดความวิตกกังวลทุกครั้งที่คิดถึงงานชิ้นนี้ เลยเลี่ยงงานนี้เสียด้วยการผัดวันประกันพรุ่ง เพื่อให้ตัวเองหลุดออกจากบ่วงความวิตกกังวลนั้น
บางคนหันไปทำกิจกรรมผ่อนคลายอย่างอื่น เช่น ดูหนัง เล่นอินเตอร์เน็ต เข้าเฟซบุ๊ค สังสรรค์กับเพื่อน ฯลฯ แต่ลึก ๆ แล้วกลับไม่ได้รู้สึกผ่อนคลายอย่างเต็มที่กับกิจกรรมพวกนี้ เพราะในใจรู้สึกผิดจากการเลี่ยงงาน
บางคนก็หันไปทำงานอย่างอื่น ทำตัวยุ่ง ๆ เพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องทำงานที่ไม่อยากทำในตอนนั้น แต่ก็อดที่จะไม่คิดถึงงานที่เลี่ยงไปไม่ได้ ในระหว่างที่ผัดวันประกันพรุ่งอยู่นั้น ตัวเองก็กำลังเฝ้าดูตัวเองทุกฝีก้าวว่าทำอะไรอยู่ พร้อม ๆ กับวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองไปด้วย ทำให้เกิดการต่อว่าตัวเอง เช่น ทำไมเป็นคนขี้เกียจอย่างนี้, ทำไมไม่เอาไหนเลย เป็นต้น
เห็นได้ว่า การผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ได้ช่วยขจัดความกังวลออกไปได้อย่างถาวร แต่มันกลับเพิ่มความรู้สึกไม่ดี รู้สึกวิตกกังวล และรู้สึกผิดมากขึ้นต่างหาก
วิธีเดียวที่จะทำให้รู้สึกดีขึ้น และหลุดจากวงจรผัดวันประกันพรุ่ง คือ “การลงมือทำงาน” เท่านั้น
สาเหตุของอาการผัดวันประกันพรุ่ง พอจะสรุปได้ดังนี้
1. กลัวอัตตาถูกกระทบ กลัว self-concept ของตัวเองเสีย
มักเกิดกับคนที่เป็น perfectionist ทุกอย่างต้องดีที่สุด, คนที่กลัวความผิดพลาด กลัวความล้มเหลว กลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์, คนที่มักไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง
คนกลุ่มนี้มักคิดเหมารวมว่าการผิดพลาดบางส่วน คือ การเป็นคนล้มเหลวทั้งหมด เมื่อเผชิญหน้ากับงานใหม่ที่ตัวเองไม่แน่ใจว่าจะทำได้ดี เขาอาจไม่กล้าลงมือทำงานนั้น หรือพยายามเลี่ยงงานนั้น เขาอาจจะผัดวันประกันพรุ่งเพื่อปกป้อง self-cencept ของตัวเอง เพราะเมื่อทำงานใกล้ deadline ก็จะมีข้ออ้างให้กับตัวเองว่า ไม่มีเวลาพอที่จะได้ทุ่มใช้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ ถ้าผลงานออกมาไม่ดี เขาจะได้ไม่รู้สึกแย่กับตัวเองมากนัก เพราะงานนั้นยังไม่ได้สะท้อนภาพรวมของตัวเองทั้งหมด
2. ขาดแรงจูงใจ, เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง
ไม่ชอบงานที่ทำ, ไม่รู้ว่าทำงานนั้นไปเพื่ออะไร, รู้สึกไม่มีอารมณ์อยากทำงาน
3. รู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางเลือก
คิดว่างานนั้นเป็นสิ่งที่ “ควร” หรือ “ต้อง” ทำ
4. ขาดทักษะการจัดการและควบคุมตัวเอง
จัดการไม่เป็นระบบ จัดสรรเวลาได้ไม่ดี ห่วงเล่นมากเกินไป วอกแวกง่าย
หนังสืออ้างอิง
Basco, M. R. (2010). The procrastinator’s guide to getting things done. NY: The Guilford Press.
Fiore, N. (2007). The Now Habit: A Strategic Program for Overcoming Procrastination and Enjoying Guilt-Free Play. NY: Penguin Group.