ค้นในอินเตอร์เน็ตเมื่อปี 2018 มีทัวร์ไร่ชาไม่กี่ที่ที่เปิดเป็นภาษาอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือ ไร่ชา Obubu ตั้งอยู่ในเมืองวาซึกะ (Wazuka) ชื่อเมืองที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ก็ทำให้ตกหลุมรักเมื่อได้ไปเยือน เมือง Wazuka อยู่ไม่ไกลจากเมืองนาราและเกียวโต เดินทางไปด้วยรถบัสไม่ยากค่ะ
ก่อนเดินทางหลายเดือน ได้จองทัวร์ไร่ชาไว้ล่วงหน้าทางเว็บของ Obubu ตกราคาคนละ 12,000 เยน และฟรีสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ แม้ว่าราคาไม่ถูก แต่ประสบการณ์ที่ได้นั้นคุ้มมาก ๆ
ทัวร์ใช้เวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมง รวมอาหารกลางวันคือโซบะชาเขียวหรือเมนูอื่น นอกจากนี้ยังได้ชิมชาหลาย ๆ ชนิดจากไร่ และมีผู้เชี่ยวชาญมาอธิบายให้ฟังถึงชาแต่ละชนิด เรียนวิธีการชงชาอย่างถูกต้อง มีการไปดูไร่ชาบนเขา ดูโรงงานผลิตชา นี่เป็นสวรรค์สำหรับคนรักชาจริง ๆ ไร่ชา Obubu เองยังเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาฝึกงานที่นี่เป็นเดือน ๆ ด้วย
ตามมาเที่ยวด้วยกันเลยค่ะ
พวกเรานั่งรถไฟ JR จากนารา ไปลงที่สถานี Kamo จากนั้นเดินไปตรงทางออกด้านทิศตะวันตก รอรถบัสสาย 66 หน้าสถานีรถไฟ รถบัสออกเวลา 10:41 นั่งไปประมาณ 10 กว่านาที ลงที่ป้าย Higashiwazuka จากนั้นก็เดินต่อไปอีกนิดนึงก็ถึง Obubu ที่ที่เราจะมาเรียนรู้เรื่องชากัน โปรแกรมเริ่มตอน 11 โมงตรง ในเว็บของ Obubu บอกข้อมูลเดินทางมาที่ไร่เป็นภาษาอังกฤษ รวมทั้งวิธีการนั่งรถบัส ซึ่งสะดวกสบายมาก ๆ สำหรับมือใหม่เที่ยวญี่ปุ่นอย่างพวกเรา
เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่นั่งรถบัสในญี่ปุ่น แถมนั่งออกไปชนบท เป็นการผจญภัยเล็ก ๆ แต่ให้ความรู้สึกดีมาก เพราะสองข้างทางมีแต่ธรรมชาติสวย ๆ แถมยังได้เห็นบ้านเรือนและชีวิตของคนญี่ปุ่นนอกเมือง คนขับรถนอกจากจะอัธยาศัยดี ทักทายผู้โดยสารแต่ละคนแล้ว ยังใจดีบอกพวกเราว่าถึงป้ายที่จะลงแล้ว
ถึงป้าย Higashiwazuka แล้ว
แถวป้ายรถบัส รายล้อมไปด้วยนาข้าว
ร้านขายของชำ ขายชา ผัก ผลไม้ และไอศกรีมชาเขียวที่อร่อยมาก ข้าง ๆ เป็นร้านอาหารที่ทางไร่ชาพามากินมื้อกลางวัน
ที่ป้าย Higashiwazuka นอกจากพวกเราที่ลงจากรถแล้ว ก็มีนักท่องเที่ยวเชื้อสายไต้หวันจากอเมริกาสามคนลงด้วยเหมือนกัน พวกเขาบังเอิญเป็นเพื่อนร่วมทัวร์กับเรา
ลงจากป้ายรถบัส เดินตรงไปที่แยกข้างหน้านิดหนึ่ง เห็นป้ายด้านขวามือ บอกทางไป Obubu
พอเข้าไปในห้องเรียนแบบนั่งกับพื้นพร้อมโต๊ะเตี้ยที่แบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ก็เจอกับเพื่อนร่วมทัวร์อีก 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นหญิงสาวจากแคนาดา พวกเราเจอกันก่อนหน้านี้ในห้องน้ำสถานีรถไฟ Kamo ตอนนั้นเธอเดินมาถามว่า ห้องน้ำที่นี่มีแบบไม่ใช่ส้วมหลุมไหม
อาสาสมัครมีสามคน ทั้งหมดชอบดื่มชามากจนสมัครมาฝึกงานที่นี่ หนึ่งในนั้นเป็นหญิงสาวจากเนเธอร์แลนด์ เธอตั้งใจจะหางานทำในโตเกียวเพื่อจะได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่ญี่ปุ่น ประเทศที่เธอหลงรัก
ส่วนคุณครูของพวกเราในวันนี้ เป็นชายญี่ปุ่นดูอายุไม่ถึง 40 อารมณ์ดีสุด ๆ เรียกเสียงหัวเราะจากพวกเราได้เป็นระยะ ๆ
แนะนำตัวเองกันพักหนึ่ง นั่งฟังบรรยายเกี่ยวกับชาพร้อมเอกสารบนโต๊ะและสไลด์ที่ฉาย จากนั้นก็นั่งรถตู้ขึ้นเขา ไปดูไร่ชากัน
ไร่ชา Obubu เช่าที่จากคนอื่นอีกที เพราะเจ้าของที่ไม่อยากปล่อยขาย เนื่องจากเป็นมรดกสืบทอดมา หลายครอบครัวที่นี่ที่มีไร่ชาก็ไม่ขายที่ง่าย ๆ เช่นกัน แม้ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ทำมาหากินที่นี่ก็ตาม เครือข่ายของ Obubu โตขึ้น ๆ จากการเปิดทัวร์เป็นภาษาอังกฤษและรับชาวต่างชาติเข้าฝึกงาน นอกจากนี้ Obubu ยังส่งออกชาไปต่างประเทศด้วย รวมถึงการจัดสัมมนาเกี่ยวกับชาตามประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ดูแล้วก็เป็นไร่ชาที่หัวก้าวหน้าและทันสมัยมาก
คุณครูอธิบายเกี่ยวกับสภาพอากาศ การเติบโตของชา วิธีดูแลต้นชาให้ได้ผลออกมาตามต้องการ จากนั้นก็เปิดโอกาสให้ได้ซักถาม นักเรียนตัวจิ๋วถามว่า “ขอเด็ดใบชาได้ไหมคร้าบ”
คุณครูใจดี บอกว่า “ได้เลย เพราะวันนี้เป็นวันพิเศษ ที่มีคนพิเศษอย่างหนูมาร่วมกรุ๊ปด้วย”
ผู้ใหญ่อย่างพวกเราเลยพลอยโชคดีได้ลองเด็ดใบชากัน ต้องใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้เด็ดยอดใบชาออกมาเท่านั้น
หมู่บ้านค่อนข้างเงียบเหงา เพราะคนหนุ่มสาวออกไปทำงานกันที่อื่น คนที่นี่ส่วนใหญ่จึงเป็นคนค่อนข้างมีอายุ
มีสุสานท่ามกลางไร่ชา ตาข่ายคลุมต้นชาเพื่อชะลอการสังเคราะห์แสง
จากนั้นรถตู้พาพวกเรามาที่โรงงานผลิตชา อยู่ใกล้ ๆ กับห้องเรียน
หลังจากแวะโรงงานชา ก็ได้เวลามื้อกลางวัน พวกเราเดินตามคนที่ไร่ไปที่ร้านอาหารแถวป้ายรถบัส อาหารมาเสริฟทันทีที่พวกเรานั่ง เป็นเมนูที่เลือกไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ตอนเริ่มคลาส โซบะชาเขียวอร่อยมาก
พอท้องอิ่ม ก็เดินกลับมาเข้าห้องเรียนกันต่อ
ชาแต่ละชนิด มาจากต้นพันธุ์เดียวกัน แต่ผ่านกรรมวิธีต่างกัน จนออกมาเป็นชาต่างชนิด ต่างรสชาติ
คุณครูนั่งสาธิตบนพื้น ให้พวกเราลองทำตาม
ส่วนลูกนั้นสนุกที่ได้ทำชาด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก คุณครูมาติวส่วนตัวว่าให้เอามือปั่น ๆ ใบชาที่เก็บได้ แล้วไปตากแห้งกลางแดด หรือไม่ก็อบในไมโครเวฟ ทิ้งไว้ไม่ให้โดนอากาศ 3-4 วัน แล้วชงดื่มได้เลย
นอกจากจะประทับใจกับทัวร์ไร่ชาครั้งนี้ ก็ยังประทับใจมากกับความใส่ใจ และความมีน้ำใจของทุกคนในไร่ค่ะ ตอนที่ลูกเก็บใบชาใส่ในหมวกเพราะกลัวใบชาจะช้ำ พอคุณครูกับคนที่ไร่เห็นเข้า เขาก็เอาตะกร้าใบเล็ก ๆ มาให้ใส่ใบชาแทน … พอตากใบชาเสร็จ คุณครูก็ใจดีให้ถุงซีลสูญญากาศเป็นของที่ระลึก เอาไว้เก็บใบชาอีก …
(เดินทาง May, 2018)