ทำอย่างไรถึงจะป้องกันและชะลออาการสมองเสื่อม?

สงสัยไหมคะว่า ทำไมผู้เฒ่าบางคนยังคงมีสติปัญญาและความจำดีเยี่ยม ไม่ค่อยเสื่อมสภาพจากสมัยยังหนุ่มสาวเท่าใดนัก แต่กับผู้สูงอายุบางคนสติปัญญาและความจำลดน้อยถอยลงไปมากจากสมัยที่ยังหนุ่มยังสาว และกับอีกบางคนที่แม้อายุจะยังไม่ถึงวัยชรากลับเริ่มหลง ๆ ลืม ๆ จำอะไรไม่ค่อยได้นานเสียแล้ว จะคิดจะตัดสินใจอะไรก็ช้า เรียกว่าสมองชราภาพก่อนอายุไขจริง

โรคสมองเสื่อมนี้เป็นโรคที่เกิดได้ทั่วไปกับผู้สูงอายุ ทุก ๆ คนต้องเผชิญกับมันไม่ช้าหรือเร็ว ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม เหตุของการเสื่อมถอยทางสมองนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฏี “use it or lose it” หรือ “อะไรที่ไม่ได้ใช้งาน…มันก็จะเสียไป

อะไรที่ไม่ได้ใช้งาน ในที่นี้ก็หมายถึง “สมอง” นั่นเอง การที่เราสามารถทำกิจกรรมอะไรได้ ไม่ว่าจะกิน จะเดิน จะเล่น จะทำงานต่าง ๆ  ล้วนมาจากการทำงานของเซลล์ประสาทในสมอง (neurons) ทั้งนั้น

สมัยก่อนเชื่อกันว่า เซลล์ประสาทในสมองของคนเราเสื่อมสภาพลงตามอายุไขที่มากขึ้น แต่งานวิจัยปัจจุบันค้นพบว่า เซลล์ประสาทถูกผลิตสร้างขึ้นมาใหม่เรื่อย ๆ ตลอดเวลาไม่มีหยุด แต่เจ้าเซลล์ประสาทพวกนี้จะเสื่อมสภาพลงไปและตายไปในที่สุด ถ้ามันไม่มีการถูกใช้งานต่างหาก (use it or lose it)  

ตามปกติแล้วเวลาเราทำกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง เซลล์ประสาทในสมองจะถูกกระตุ้นและจะเชื่อมต่อกันกับเซลล์ประสาทตัวอื่น ๆ ไปเป็นทางเรื่อย ๆ เพื่อส่งต่อพลังงานจนกว่ากิจกรรมที่ทำอยู่นั้นจะเสร็จลุล่วง ไอ้ทางเดินของเซลล์ประสาทนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะของกิจกรรมที่เราทำ เช่น เวลาเราเล่นดนตรี ทางเดินของเซลล์ประสาทในสมองก็จะถูกสร้างขึ้นเป็นแบบหนึ่ง เวลาเราอ่านหนังสือ ทางเดินของเซลล์ประสาทในสมองก็จะถูกสร้างขึ้นอีกแบบหนึ่ง

เวลาที่เราทำกิจกรรมอะไรสักอย่างซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ทางเดินของเซลล์ประสาทสำหรับกิจกรรมนี้ก็จะถูกกระตุ้นบ่อย ๆ ยิ่งถูกกระตุ้นมาก ๆ เข้า เพราะทำกิจกรรมนั้นบ่อย ๆ ก็ยิ่งทำให้เซลล์ประสาทนั้นแข็งแรงและไม่เสื่อมสภาพลงไปได้ง่าย (เพราะมันถูกใช้งานบ่อย ๆ นี่เอง) นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมแม่ค้าสูงอายุที่ทำงานมานานบางคน ยังคงสามารถคิดเลขทอนเงินได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งนี้ก็เพราะเขาต้องทำการคิดราคา ทอนเงินให้ลูกค้ามาตั้งแต่สมัยสาว ๆ ไอ้ทางเดินของเซลล์ประสาทในการคิดเลขก็ยังถูกกระตุ้นตลอดเวลา ไม่เสื่อมสภาพง่าย ๆ


วิธีการที่จะช่วยชะลอความเสื่อมถอยของสมอง และป้องกันโรคหลงลืมเมื่อเข้าสู่วัยชรา

1. ทำงานที่ต้องใช้ความคิดและสมาธิสูง ยิ่งเป็นงานที่ท้าทายและซับซ้อนได้ยิ่งดี

จากงานวิจัย [1] พบว่าผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีหน้าที่การงานที่ได้ใช้ความคิดมาก ๆ นั้น จะสมองเสื่อมน้อยกว่าคนรุ่นเดียวกันที่ไม่ได้ทำงานที่ใช้สมองมากนักถึง 2 เท่า !

แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีหน้าที่การงานที่ต้องใช้สมองมาก ๆ ก็อย่าเพิ่งเสียใจไป เพราะวิธีการที่เหลือต่อไปนี้สามารถช่วยชะลอความเสื่อมถอยของสมองได้

2. ทำกิจกรรมเยอะ ๆ

การทำกิจกรรมเยอะ ๆ นั้น เป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ที่นอกเหนือจากงานประจำ เป็นได้ทั้งงานอดิเรกต่าง ๆ การทำงานบ้าน การทำงานที่ใช้แรงกาย การช่วยงานกุศล งานรื่นเริงบันเทิงต่าง ๆ เล่นเกม อ่านหนังสือ หรือเย็บปักถักร้อย เป็นต้น จากการวิจัย [2] พบว่า ผู้สูงอายุหลังเกษียณที่มีกิจกรรมทำตลอดเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ มีการเสื่อมถอยของสมองน้อยกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีกิจกรรมทำอย่างมาก

3. หัดเข้าสังคมบ่อย ๆ

การไปมาหาสู่เพื่อน ๆ ญาติ ๆ คนรู้จัก รวมถึงการสร้างสังคมใหม่ ๆ รู้จักคนใหม่ ๆ พบปะพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น จะช่วยลดการชราภาพของสมองได้ เพราะการพูดคุยโต้ตอบกับคนอื่นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ได้ใช้สมองในการคิด [3]

4. การออกกำลังกาย แบบแอโรบิค (aerobic exercise)

หรือการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน ซึ่งมีการหายใจเข้าออกขณะออกกำลังกายและทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เช่น การวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือเต้นแอโรบิค

การออกกำลังกายแบบแอโรบิคสามารถช่วยสร้างประสิทธิภาพของสมองได้อย่างไร?

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าออกซิเจนที่ไหลมากับเลือดนั้นเป็นอาหารตัวสำคัญของสมอง และกระแสเลือดที่ส่งไปยังสมองนั้นมาจากกระแสเลือดที่ไหลผ่านหัวใจอีกที เมื่อคนเราอายุมากขึ้นหลอดเลือดสมองจะเสื่อมสภาพลงทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง การออกกำลังกายแบบแอโรบิคทำให้ร่างกายสามารถรับออกซิเจนเข้าสู่หัวใจได้มากขึ้น ทำให้หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองแข็งแรงขึ้น และสุดท้ายทำให้ออกซิเจนขึ้นไปเลี้ยงสมองมากขึ้น โดยเฉพาะสองส่วนหน้า (frontal lobe) ที่มีความสำคัญมากต่อระบบความจำและสติปัญญาของคนเรา[4]

นอกจากนี้ออกกำลังกายแบบแอโรบิกยังช่วยเพิ่มสมาธิในการบันทึกข้อมูลได้ดีขึ้นเพราะไปกระตุ้นสมองส่วน medial frontal gyrus และ superior parietal lobe[5] และยังช่วยเพิ่มปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยง dentate gyrus ซึ่งอยู่ในสมองส่วน hippocampus ที่มีความสำคัญในการจำอีกด้วย[6] ซึ่ง dentate gyrus นี้ปกติจะถูกผลิตน้อยลงในผู้สูงอายุ


โดยสรุปแล้ว วิธีการชะลออาการสมองเสื่อมสามารถทำได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ การฝึกลับสมองทางตรงด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ได้ใช้ความคิด และการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่เป็นการช่วยเสริมสร้างสมองทางอ้อม

นับว่าเป็นโชคดีถ้าอายุยังน้อยอยู่ เพราะยังมีเวลาเหลือเฟือในการที่จะฝึกสมองให้มีภูมิต้านทาน ต่อการเสื่อมสภาพก่อนเข้าสู่วัยชรา … อย่ารอให้สายเกินแก้ … use it or lose it


[1]             Bosma, H., van Boxtel, M.P.J., Ponds, R.W.H.M., & Houx, P.J. (2003). Mental work demands protect against cognitive impairment: MAAS prospective cohort study. Experimental aging research, 29, 33-45.

[2]             Calero-Garcı´a, M.D., Navarro-Gonza´lez, E.,  Mun˜oz-Manzano, L. (2007). Influence of level of activity on cognitive performance and cognitive plasticity in elderly persons. Archives of Gerontology and Geriatrics, 45, 307–318.

[3]             Bassuk, S.S., Glass, T.A. & Berkman, L.F. (1999). Social disengagement and incident cognitive decline in community-dwelling elderly persons. Annals of internal medicine, 131, 165-73.

[4]             Hawkins, H.L., Kramer, A.F., & Capaldi, D. (1992). Aging, exercise, and attention. Psychology and Aging, 7, 643-653.

[5]             Colcombe, S. J., Kramer, A.F., Erickson, K.I., Scalf, P. , McAuley, E., Cohen, N.J., Webb, A., Jerome, G.J., Marquez, D.X. & Elavsky, S. (2004). Cardiovascular fitness, cortical plasticity, and aging. Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America, 101, 3316-3321.

[6]             Pereira, A. C.,  Huddleston, D. E., Brickman, A. M., Sosunov, A. A., Hen, R., McKhann, G. M., Sloan, R., Gage, F. H., Brown, T. R. & Small, S. A. (2007). An in vivo correlate of exercise-induced neurogenesis in the adult dentate gyrus. Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America, 104, 5638-5643.